“ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” แด่ความสง่างามของนักเตะผู้มาจากอนาคต Der Kaiser จักรพรรดิลูกหนังหนึ่งเดียวของเยอรมนี…
ชายผู้นี้ได้รับการยกย่องให้เป็น “Der Kaiser” หรือ “จักรพรรดิแห่งเยอรมนี” ทั้งๆ ที่ลงเล่นในตำแหน่งที่ทำหน้าที่ “ผู้ปัดกวาดในแนวหลัง” หรือชื่อในภาษาอิตาเลียนว่า “ลิเบอโร” (Libero) หรือ “สวีปเปอร์” (Sweeper) ในภาษาอังกฤษ….ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ในโลกฟุตบอล ณ ปัจจุบันมองว่าเป็น “ไดโนเสาร์แห่งศาสตร์ฟุตบอล” ไปแล้ว
หากแต่ในช่วงรุ่งโรจน์ เมื่อสวมสตั๊ดหวดลูกหนังบนทุ่งหญ้านั้น “ลิเบอโรคลาสสิกที่ดีที่สุดตลอดกาล” ผู้นี้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกัปตัน ได้พา “ทีมชาติเยอรมันตะวันตก” (ในเวลานั้น) คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปี 1974 ขณะที่เมื่อยามร่วงโรย บุรุษผู้นี้ยังสามารถพาทีมอินทรีเหล็กที่ไม่สมประกอบมากนัก ทะลุเข้าถึงรอบชิงฟุตบอลโลกในปี 1986 ได้สำเร็จ ก่อนที่ทีมอินทรีเหล็กจะพ่ายแพ้ให้กับ “มนุษย์ที่อยู่เหนือห่วงโซ่แห่งฟุตบอล” ดีเอโก มาราโดนา ไปแบบเฉียดฉิว และได้ใจคนทั้งโลกจากหัวจิตหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย แม้ว่าจะเป็นรองแบบสุดกู่ก็ตาม!
อย่างไรก็ดีในอีก 4 ปีต่อมา ทีมชาติเยอรมันตะวันตก ที่เบ่งบานอย่างเต็มที่ภายใต้การนำทัพของเขา ก็สามารถขึ้นเถลิงแชมป์โลกได้สำเร็จ ด้วยการล้างตาพิชิต “มนุษย์เหนือโลกชาวอาร์เจนตินา” ในนัดชิงชนะเลิศได้ในที่สุด
ซึ่งความสำเร็จจากการที่เป็นแชมป์โลกได้ทั้งในฐานะนักเตะ และผู้จัดการทีม ในโลกนี้มีเพียง “มาริโอ ซากัลโล” (Mario Zagallo) ของบราซิล และ “ดิดิเยร์ เดสชองส์” (Didier Deschamps) แห่ง ฝรั่งเศส รวมถึง “ชายผู้นี้เท่านั้น!”
บทความนี้จึงขออุทิศ และแสดงการคารวะให้กับ Der Kaiser “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” (Franz Beckenbauer) แชมป์โลก และผู้เล่นในตำแหน่งลิเบอโรที่ดีที่สุดเท่าที่โลกลูกหนังเคยมีมา! ซึ่งเพิ่งอำลาชีวิตนักเตะผู้ยิ่งยงไปตลอดกาล
“ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” เกิด 11 กันยายน 1945 เสียชีวิต 7 มกราคม 2024 สิริอายุ 78 ปี
จุดเริ่มต้น…โชคชะตาที่สุดพลิกผันของ Der Kaiser :
เป็นที่ทราบกันดีว่า เส้นทางสู่การเป็น “จักรพรรดิแห่งเยอรมนี” นั้นมาจากการลงเล่นให้กับสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นบาวาเรีย หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” นั้นทั้งเป็นแฟนบอลตัวยง และอยากจะลงเล่นฟุตบอลอาชีพให้กับสโมสร 1860 มิวนิก (ปัจจุบันอยู่ในลีกา 3) เนื่องจากในเวลานั้นถือเป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงมากกว่า “สโมสรบาเยิร์น มิวนิก”
อย่างไรก็ดีได้เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็น “จุดพลิกผันครั้งสำคัญ” ของทั้งสโมสรบาเยิร์น มิวนิก และวงการฟุตบอลเยอรมนีในอีกไม่กี่ปีต่อมา นั่นก็คือ ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล U-14 ช่วงฤดูร้อนปี 1958 ขณะที่เด็กชายฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ วัย 13 ปี ซึ่งลงเล่นเป็นกองหน้าให้กับทีม SC 1906 หวดลูกหนังกับทีมเยาวชนของสโมสร 1860 มิวนิก อยู่นั้น เขาถูกกองหลังของฝ่ายตรงข้ามจ้องเล่นตุกติกนอกเกมอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นได้ทำให้ “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” ตัดสินใจเบนเป้าหมายจาก “สโมสร 1860 มิวนิก” ไปยัง “สโมสรบาเยิร์น มิวนิก” เมื่ออายุ 18 ปีทันที!
Wonder Kid ที่ได้รับการเรียกขานว่า “ผู้เล่นแห่งอนาคต”
“เฮลมุน เชิน” (Helmut Schon) อดีตผู้จัดการทีมชาติเยอรมันตะวันตก ซึ่งเป็นผู้เรียก “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” ติดธงที่หน้าอกเสื้อครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี เมื่อปี 1965 ทั้งๆ ที่เพิ่งลงเล่นในบุนเดสลีกา กับ บาเยิร์น มิวนิก ได้เพียง 6 นัด เคยให้คำจำกัดความถึง Der Kaiser ผู้นี้เอาไว้ว่า…
“สำหรับผม เขาคือนักเตะแห่งอนาคต ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้งมิดฟิลด์ หรือกองหน้า ในขณะที่ผู้คนทั่วไปมองไปที่ เบ็คเคนบาวเออร์ มักเห็นว่าเขาเป็นคนที่มาจากยุคสมัยอื่น ซึ่งนั่นหมายความว่า มันเนิ่นนานมากแล้วที่ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับชายคนนี้
เขาทั้งหล่อเหลา มีเสน่ห์ อ่อนช้อย เป็นผู้เล่นที่โดดเด่น และแทบไม่ต้องพยายามอะไรเลย สำหรับการแข่งขันที่ดุเดือดในสนาม เพราะเขาเป็นนักเตะที่มากด้วยพรสวรรค์ และเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เขาคือความสง่างาม และเต็มเปี่ยมไปด้วยความชาญฉลาด”
ลิเบอโร ผู้อยู่เหนือกองหลังทั้งมวล :
เหตุใดผู้เล่นลิเบอโรผู้นี้จึง “แตกต่าง” และ “โดดเด่น” เหนือผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังคนใดในโลก คำตอบคือ “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” ได้ยกระดับการเล่นของผู้เล่นตำแหน่ง “ลิเบอโร” ตามปรัชญาคาเตนัคโช่ (Catenaccio) ปิดประตูลงดาลสไตล์ลูกหนังอิตาเลียนแท้ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เล่นคนสุดท้ายหลังแนวรับ เพื่อคอยเก็บกวาดเกมรุกฝ่ายตรงข้าม ให้กลายเป็นผู้เล่นที่สามารถพาบอลฝ่าเส้นครึ่งสนามขึ้นไปทำเกมรุกได้อย่างอิสระ และไม่มีใครเหมือน (ในช่วงยุคปลาย 60-70)
และยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับทักษะ และวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด และอ่านจังหวะเกม รวมถึงการผ่านบอลระยะไกล โดยเฉพาะการจ่ายบอลไซด์โค้งด้วยข้างเท้าด้านนอก ยังมีความแม่นยำจนสามารถฉีกขาดกองหลังคู่ต่อสู้ได้ ไม่ต่างอะไรกับบรรดา “มิดฟิลด์จอมทัพ” โดยเฉพาะ “คู่ปรับแห่งยุคสมัย” อย่าง “โยฮัน ครัฟฟ์” นักเตะเทวดาของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ทุกอย่างจึงกลายเป็นทั้ง “ความแตกต่าง และโดดเด่น” ที่ยากจะหาใครเทียบเคียงได้ (แต่เอาจริงๆ ณ โมงยามนั้นอาจจะต้องเว้น โยฮัน ครัฟฟ์ เอาไว้สักคนในกรณีนี้)
โดยเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” มีวิสัยทัศน์ และสามารถจ่ายบอลได้อย่างแม่นยำนั้น เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้ว่า มันมาจากการเล่นชิ่งหนึ่งสองกับกำแพงบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์…
“กำแพงบ้านคือเพื่อนร่วมทีมที่ดีที่สุดที่คุณจะหาได้ เพราะถ้าคุณจ่ายบอลได้อย่างเหมาะสม คุณก็จะได้รับลูกบอลกลับมาอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งเช่นกัน”
ขณะที่เมื่อยามเล่นเกมรับนั้น ด้วยความที่เคยผ่านการเล่นเป็นกองหน้ามาก่อน จึงทำให้ Der Kaiser “รู้เท่าทันจังหวะการเคลื่อนไหว” ของ บรรดากองหน้าได้ราวกับทำแบบฝึกหัดเด็กนักเรียนชั้นประถม จนทำให้สามารถสกัดกั้นเกมรุกฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งกว่าไปนั้น สมรรถภาพทางร่างกายของหมายเลข 5 คลาสสิกผู้นี้ยังมีความแข็งแกร่งเกินหยั่งถึงอีกด้วย โดยสิ่งนี้ยืนยันได้จากเมื่อครั้งยังลงเล่นให้กับ สโมสรบาเยิร์น มิวนิก ถึง 369 นัด นั้น “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” พลาดการลงเล่นในบุนเดสลีกา จากปัญหาอาการบาดเจ็บเพียง 12 นัดเท่านั้น!
และอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงออกถึงภาวะผู้นำ เลือดนักสู้ และความแข็งแกร่งของจักรพรรดิแห่งเยอรมนีผู้นี้ก็คือ ในฟุตบอลโลกรอบรองชนะเลิศปี 1970 ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บถึงขั้นไหล่หลุดระหว่างการขับเคี่ยวกับ ทีมชาติอิตาลี แต่ ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ กลับไม่ยอมแพ้ และยืนยันจะลงเล่นต่อไปโดยไม่ขอเปลี่ยนตัว โดยกัดฟันใช้ผ้าดามหัวไหล่เอาไว้จนกระทั่งจบการแข่งขัน ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดเยอรมันตะวันตกจะพ่ายแพ่ให้กับ อิตาลี ไป 3 ประตูต่อ 4 ก็ตามที แต่แฟนบอลทั่วโลกต่างล้วนชื่นชมกับ “หัวจิตหัวใจอันแข็งแกร่งนี้” อย่างล้นหลาม ซึ่งผิดแผกกับ “นักเตะบางคน” ของสโมสรแถวๆ ทุ่งโอลด์ แทรฟเฟิร์ด ณ โมงยามนี้อย่างสิ้นเชิง!
แล้วแนวคิด ลิเบอโร พาบอลขึ้นไปโจมตีฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นมาจากอะไร :
ก่อนจะไปกันต่อเหล่าน้องๆ โดยเฉพาะ Gen Z และ มิลเลเนียม อาจงุนงงกับประเด็นนี้อยู่เล็กน้อยว่า การที่ผู้เล่นในแนวรับขึ้นไปร่วมเล่นเกมบุกมันแปลกตรงไหน? ในเมื่อฟุตบอลยุคนี้ ก็เห็นกองหลังโดยเฉพาะเหล่าบรรดาแบ็กซ้าย หรือขวาต่างดาหน้าขึ้นเต็มเกมบุก จนแทบไม่ต่างอะไรกับ “กองหน้าริมเส้น” เข้าไปทุกทีแล้ว
แต่ถ้าหากเราลองย้อนไปดูคลิปฟุตบอลยุคปลายๆ 60-70 ซึ่งเกมฟุตบอลยังขับเคลื่อนอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับฟุตบอลยุคปัจจุบันราวกับรถกระบะที่แข่งกับรถแข่ง F1 แล้ว บรรดานักเตะกองหลังในยุคนั้นยังมักถูกกำหนดบทบาทให้ “เน้นการเล่นเกมรับ” อย่างมีระเบียบวินัยอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เมื่อมีเกิดการปฏิวัติศาสตร์ลูกหนัง ด้วยการให้ผู้เล่นลิเบอโร เป็นผู้ควบคุมเกม และสามารถพาบอลจากแนวหลังขึ้นไปบัญชาเกมรุกได้ มันจึงถือเป็นเรื่อง “แปลกใหม่” สำหรับวงการฟุตบอลในยุคนั้นเป็นอย่างมาก
แล้ว “ลิเบอโรเกมบุก” มีสารตั้งต้นจากอะไร?
“ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้ว่า เขาชื่นชอบสไตล์การเล่นของ “จิอาซินโค ฟัคเค็ตติ” (Giacinto Facchetti) ผู้เล่นตำแหน่งแบ็กซ้ายของเจ้างูใหญ่ อินเตอร์ มิลาน ซึ่งเป็นนักเตะสไตล์แบ็กซ้ายพลังม้า ที่มักชอบขึ้นไปร่วมเล่นเกมรุกกับแผงมิดฟิลด์เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม
เขาจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเพราะอะไร ผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังจึงไม่ขึ้นไปโจมตีคู่ต่อสู้จากพื้นที่กลางสนาม หรือริมเส้นบ้างล่ะ? และนี่คือ “จุดเริ่มของตำนานหมายเลข 5 คลาสสิกแห่งโลกฟุตบอล”
เหตุใด “ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์” จึงได้ชื่อว่าเป็น จักรพรรดิแห่งเยอรมนี :
ด้วยท่วงท่าที่สง่างามยามลงเล่นฟุตบอลบนผืนหญ้า และความเป็นผู้นำในทุกมิติที่ฉายออกทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ได้ทำให้นักเตะที่เริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลจากการเป็น “กองหน้า” และ “ปีกซ้าย” แต่กลับ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในฐานะผู้เล่น “ตำแหน่งกองหลัง”
โดยสามารถพา สโมสรบาเยิร์น มิวนิก คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 5 สมัย (ปี 1969, 1972, 1973, 1974) และอีก 1 ครั้งกับ สโมสรฮัมบูรก์ (ปี 1982)
แชมป์ยูโรเปียน คัพ (ยูฟ่า แชมป์เปียน ลีก) 3 สมัยติดต่อกัน (ปี 1974-1976)
แชมป์ เดเอฟเบ โพคาล 4 สมัย (ปี 1966, 1967, 1969, 1971)
แชมป์คัพ วินเนอร์ คัพ 1 สมัย (ปี 1967)
แชมป์ฟุตบอลสโมสรโลก 1 สมัย (ปี 1976)
นักเตะยอดเยี่ยมยุโรป บัลลังดอร์ 2 ครั้ง (ปี 1972, ปี 1976)
ส่วนในนามทีมชาตินั้น เมื่อสมัยที่ยังค้าแข้งพาทีมชาติเยอรมันตะวันตก คว้าได้ทั้งแชมป์โลก (ปี 1974) และแชมป์ยุโรป (ปี 1972) และเมื่อได้เข้ามาคุมทีมชาติในฐานะบุนเดสเทรนเนอร์ ก็ยังพาทีมชาติเยอรมันตะวันตกคว้าแชมป์โลกได้อีก 1 สมัย (ปี 1990) ด้วยเหตุมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เขาจึงถูกยกย่องให้เป็น “จักรพรรดิโลกลูกหนังแห่งเยอรมนี” โดยปราศจากการโต้แย้งใดๆ
บทสรุปสุดท้ายของ “จักรพรรดิลูกหนังแห่งเยอรมนี”
สถิติการลงเล่นในระดับสโมสร :
ลงเล่นให้กับสโมสรบาเยิร์น มิวนิก รวม 582 นัด ยิง 74 ประตู 75 แอสซิสต์
ลงเล่นให้กับสโมสรฮัมบูรก์ 38 นัด
สถิติการลงเล่นให้กับทีมชาติเยอรมนี :
ลงเล่นทีมชาติ : 103 นัด ยิง 14 ประตู
สถิติการคุมทีมชาติเยอรมนี ระหว่างปี 1984-1990 :
66 นัด ชนะ 36 นัด เสมอ 17 นัด แพ้ 13 นัด
สถิติการคุมทีมระดับสโมสร :
สโมสรโอลิมปิก มาร์เซย์ ปี 1990 (ลาออกหลังทำงานได้เพียง 4 เดือน) :
17 นัด ชนะ 10 เสมอ 2 นัด แพ้ 5 นัด
สโมสรบาเยิร์น มิวนิก รอบแรก ปี 1993 (ธ.ค.1993 – มิ.ย.1994) :
14 นัด ชนะ 9 นัด เสมอ 2 นัด แพ้ 3 นัด ได้แชมป์บุนเดสลีกา
สโมสรบาเยิร์น มิวนิก รอบสอง ปี 1996 (เม.ย.1996 – พ.ค.1996) :
5 นัด ชนะ 3 นัด แพ้ 2 นัด ได้แชมป์ยูฟ่าคัพ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน